วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เราทำไร่ทำนาปลูกพืชได้เมล็ดพืชเป็นอาหารของมนุษย์ เศษเหลือหรือวัสดุพลอยได้จากอาหารมนุษย์ นำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ เราปลูกข้าวได้ ข้าวเปลือก เมื่อนำข้าวเปลือกไปสีได้ข้าวสารเป็นอาหารมนุษย์ ส่วนรำ ปลายข้าว ใช้เป็นอาหารสัตว์ ต้นข้าวหลังจากเก็บเกี่ยวเมล็ดข้าวแล้วเรียกว่า ฟาง ก็เป็นอาหารโคกระบือ เราปลูกถั่วเก็บเมล็ด นำเมล็ดไปหีบน้ำมัน น้ำมันเป็นส่วนประกอบของอาหารมนุษย์ ส่วนกากที่ได้ใช้เป็นอาหารสัตว์ เถาถั่วใช้เป็นอาหารโคกระบือ เราทำการประมง จับปลาในทะเลได้ปลาหลายชนิด ปลาที่ไม่ใช้เป็นอาหารมนุษย์ใช้ทำเป็นปลาป่นเพื่อเป็นอาหารสัตว์ยอดอ้อย ชานอ้อย กากน้ำตาลเป็นเศษเหลือวัสดุพลอยได้จากอ้อย ใช้เป็นอาหารสัตว์ ใบและต้นพืช ในวงศ์หญ้าและถั่วบางชนิดเป็นอาหารของสัตว์ประเภทกินหญ้า เช่น โค กระบือ ช้าง ม้า แพะและแกะ เป็นต้น จึงเห็นได้ว่า อาหารสัตว์ส่วนใหญ่ได้มาจากวัสดุพลอยได้ของอาหารมนุษย์นั่นเอง

อาหารสัตว์ หมายถึงวัตถุต่างๆ ที่มีสารอาหารเป็นประโยชน์ในการบำรุงร่างกายและไม่เป็นพิษต่อสัตว์ เช่น รำ ปลายข้าว เมล็ดข้าวโพด ปลาป่น กากถั่วต่างๆ มันสำปะหลัง ตลอดจน หญ้าและพืชในวงศ์ถั่วบางชนิด เรานำเอาวัสดุพลอยได้จากอาหารมนุษย์เหล่านี้มาผสมเข้าด้วยกันตามสัดส่วนที่ต้องการให้เป็นอาหารผสมสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงสัตว์ อาหารสัตว์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเราเลี้ยงสัตว์เพื่อประโยชน์หลายอย่าง เช่น เพื่อเป็นอาหาร เพื่อใช้แรงงาน และเพื่อส่งขายในต่างประเทศ ใน พ.ศ. ๒๕๓๒ เราส่งเนื้อไก่ไปจำหน่ายในต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ ๔,๘๐๐ ล้านบาท การเลี้ยงโคนมของเราก็ก้าวหน้าสามารถผลิตนมได้ประมาณวันละ ๓๐๐ ตัน ด้วยเหตุนี้เราจำเป็นต้องพัฒนาอาหารสัตว์ให้มีคุณภาพดีและมีปริมาณเพียงพอ ใน พ.ศ. ๒๕๓๒ มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์ขนาดต่างๆ จำนวน ๔๙ โรง ผลิตอาหารได้กว่า ๓ ล้านตัน ได้อาหารสัตว์ที่มีคุณภาพดีทัดเทียมกับของต่างประเทศ ประเทศไทยมีจำนวนสัตว์ดังนี้ คือ โค ๔.๗ ล้านตัว กระบือ ๕.๙ ล้านตัว สุกร ๔.๒ ล้านตัว ไก่ ๘๔ล้านตัว และเป็ด ๑๕ ล้านตัว
แหล่งอาหารสัตว์

ในเมืองไทยอาหารสัตว์ได้มาจากแหล่งอาหารสัตว์หลายแหล่ง ดังนี้
๑. แหล่งอาหารสัตว์ธรรมชาติ ได้แก่ หญ้า ถั่ว และพืชอื่นๆ ที่ขึ้นตามธรรมชาติ เป็นอาหารของโค กระบือ แพะ แกะ ช้าง ม้า เช่น หญ้าเพ็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทุ่งนาและคันนามีหญ้าธรรมชาติขึ้นปกคลุม ป่าละเมาะและที่รกร้างซึ่งมีหญ้าและพืชอาหารสัตว์ขึ้นปนอยู่ เป็นแหล่งอาหารธรรมชาติที่เกษตรกรได้ใช้เลี้ยงโค กระบือโดยทั่วๆ ไป
๒. แหล่งอาหารสัตว์ที่มนุษย์ผลิตขึ้น ได้แก่ เมล็ดพืชต่างๆ ที่เก็บเกี่ยวจากไร่นา เช่น เมล็ดข้าวโพด ข้าวฟ่าง ตลอดจนหัวมันสำปะหลัง ซึ่งปลูกเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์โดยเฉพาะ
๓. แหล่งอาหารสัตว์ที่เป็นเศษวัสดุเหลือใช้จากโรงงานต่างๆ เช่นกากถั่วเหลือง กากถั่วลิสง รำข้าว และปลายข้าว กากน้ำมันมะพร้าว กากปาล์ม และกากยางพารา ส่าเหล้า กากเบียร์ กากน้ำตาล เศษสับปะรด มะเขือเทศ และหน่อไม้ ฝรั่ง กระดูกป่น วัสดุเหลือใช้เหล่านี้มีคุณค่าอาหารสัตว์สูงมาก
๔. แหล่งอาหารสัตว์ที่เป็นวัสดุพลอยได้จากไร่นา ส่วนใหญ่จะเป็นใบพืชเช่น ยอดอ้อยเศษต้นและเปลือกข้าวโพดฝักอ่อน ฟางข้าว ใบมันสำปะหลัง ใบปอกระเจา ซึ่งจัดอยู่ในประเภทอาหารหยาบ ใช้เลี้ยงโค กระบือ แพะ แกะ
๕. แหล่งอาหารสัตว์ที่เป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ได้แก่ ปลาป่น เปลือกหอย กระดูกสัตว์ เป็นแหล่งอาหารสัตว์ที่สำคัญเช่นกัน ทำเป็นอาหารป่นใช้ผสมกับอาหารชนิดอื่นๆ ปลาป่นให้สารอาหารโปรตีน ส่วนเปลือกหอยและกระดูกป่นให้อาหารแร่ธาตุ เช่น แคลเซียมและฟอสฟอรัส
๖. แหล่งอาหารสัตว์ที่เป็นทุ่งหญ้า เป็นแหล่งอาหารสำคัญสำหรับสัตว์ประเภทกินหญ้า เช่น โค กระบือ แพะ แกะ ช้าง ม้า มีการเพาะปลูกบำรุงรักษาเช่นเดียวกับการปลูกข้าวและข้าวโพดโดยใช้พันธุ์หญ้าและถั่วพันธุ์ดีโดยเฉพาะ บำรุงรักษาโดยการใส่ปุ๋ย กำจัดวัชพืช ปล่อยโคแทะเล็มเองหรือตัดให้กิน พันธุ์หญ้าที่ใช้กันมาก ได้แก่ หญ้ารูซี กินนี เนเปียร์ และพืชอื่นๆ ได้แก่ ถั่วลาย ถั่วฮามาตา และกระถิน เป็นต้น
[กลับหัวข้อหลัก]
การจำแนกประเภทอาหารสัตว์

การจำแนกประเภทอาหารสัตว์แบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ
อาหารหยาบ เป็นอาหารสำคัญของสัตว์ประเภทกินหญ้าเป็นหลัก เช่นโค กระบือ แพะ แกะ มีสารอาหาร เช่น โปรตีน และพลังงานน้อยแต่มีสารย่อยยากหรือกากมาก เช่น ต้นหญ้าต่างๆ ต้นข้าวโพด ฟางข้าว ยอดอ้อย เถาถั่ว และใบพืชอื่นๆ ที่สัตว์กินได้ เช่น กระถิน ทองหลาง แคและใบมันสำปะหลัง เป็นต้น
อาหารข้น เป็นกลุ่มอาหารสัตว์ที่มีสารอาหารเป็นองค์ประกอบอยู่มาก ย่อยง่าย มีกากหรือเยื่อใยน้อย ตัวอย่างเช่น เมล็ดธัญพืชต่างๆ เมล็ดข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วลิสง หัวมัน กากถั่วต่างๆ กากเมล็ดปาล์มน้ำมัน รำข้าว และปลาป่น
อาหารข้นใช้เลี้ยงสัตว์ทุกชนิดได้อาหารข้นยังถูกแบ่งย่อยออกเป็นกลุ่มอาหารเสริมต่างๆ เช่น อาหารเสริมโปรตีน ซึ่งเป็นอาหารที่มีโปรตีนปนอยู่มาก ใช้เติมในอาหารสัตว์ให้มีปริมาณโปรตีนเพียงพอ อาจได้จากกากถั่วต่างๆ หรือปลาป่น เศษเนื้อป่น อาหารเสริมแร่ธาตุ เป็นกลุ่มอาหารสัตว์ที่มีแร่ธาตุต่างๆ เป็นส่วนประกอบอย่างเข้มข้น เช่นกระดูกป่น เกลือ จุนสี และธาตุเหล็ก เป็นต้น อาหารเสริมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ อาหารเสริมวิตามิน เช่น น้ำมันตับปลา และวิตามินสังเคราะห์ นอกจากนั้นมีสารตัวเร่งการเจริญบางอย่าง เช่น ยาปฏิชีวนะ ใช้เติมในอาหารสัตว์เพียงเล็กน้อย ช่วยให้สัตว์เจริญเติบโตได้ดี สารตัวเร่งนี้ต้องใช้อย่างระมัดระวังมีกฎหมายควบคุมการใช้ เพราะถ้าใช้มากเกินไปอาจเป็นอันตรายกับผู้บริโภคเนื้อสัตว์ เช่น ในกรณีการเลี้ยงสุกร อาหารเสริมที่สำคัญ ได้แก่อาหารเสริมกรดอะมิโนไลซีน กรดอะมิโนไลซีนมีในอาหารสัตว์ไม่เพียงพอ จึงมีการสังเคราะห์และใช้เสริมเพิ่มเติมในอาหาร ลดค่าใช้จ่ายของอาหารโปรตีนลงได้ กรดอะมิโนเป็นส่วนประกอบของโปรตีน มีหลายชนิด แต่ที่จำเป็นและขาดไม่ได้มี ๑๐ ชนิด คือ เมไทโอนีน (methionine) อาร์จินีน (arginine) ทริปโทเฟน (tryptophane) ไทรโอนีน (trionine) ฮิสทิดีน (histidine) ไอโซลูซีน (isoleucine) ลูซีน (leucine) ไลซีน (lysine) วาลีน (valine) และเฟนิลอะลานีน (phenylalanine)
[กลับหัวข้อหลัก]
คุณภาพของอาหารสัตว์
สัตว์จะเจริญเติบโตดีและให้ผลิตผลสูง ถ้าได้รับอาหารคุณภาพดีและเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย คุณภาพของอาหารสัตว์สามารถตรวจสอบได้ เช่น การตรวจสอบรสชาติ การเกิดเชื้อรา การมีสารพิษเจือปน และการตรวจหาปริมาณสารอาหาร วิธีตรวจสอบทั่วๆ ไป คือการวิเคราะห์หาส่วนประกอบทางเคมี เช่น หาปริมาณโปรตีน ไขมัน กากหรือเยื่อใย แร่ธาตุค่าพลังงาน สารย่อยยาก เช่น ลิกนิน ตลอดจนสารพิษและการย่อยได้



1 ความคิดเห็น:

  1. เว็บ สล็อต ออนไลน์อันดับ 1 ในทวีปเอเชีย เป็นเว็บออนไลน์ ที่ดีเยี่ยมที่1ของไทย ระบบน่าไว้วางใจ pg slot เล่นได้ จ่ายจริง ไม่มีต่ำ ฝาก-ถอน เร็วทันใจเล่นง่ายไม่ยุ่งยาก ทำเงิน ได้จริง

    ตอบลบ